วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

อนุทินที่ ๘ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรม SWOT



สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรม SWOT

        การวิเคราะห์ SWOT เป็นการวิเคราะห์สภาพองค์การหรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้แต่ละอย่างจะช่วยให้เข้าใจได้ว่ามีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงานขององค์กรอย่างไร จุดแข็งขององค์กรจะเป็นความสามารถภายในที่ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่จุดอ่อนขององค์กรจะเป็นคุณลักษณะภายในที่อาจจะทำลายผลการดำเนินงานโอกาสทางสภาพแวดล้อมจะเป็นสถานการณ์ที่ให้โอกาสเพื่อการบรรลุเป้าหมายองค์กร ในทางกลับกันอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมจะเป็นสถานการณ์ที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ SWOT นี้จะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดกลยุทธ์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริหารทราบถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นแล้ว การวิเคราะห์องค์กรยังเป็นการกำหนดกรอบการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้องค์กรเกิดการพัฒนาไปในทางที่เหมาะสม โดยคำว่า SWOT เป็นตัวย่อที่มีความหมาย ดังนี้


o  Strengths - จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบ
o  Weaknesses - จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบ
o  Opportunities – โอกาสที่จะดำเนินการได้
o  Threats - อุปสรรค ข้อจำกัด หรือปัจจัยที่คุกคามการดำเนินงานขององค์การ

ความสำคัญของ SWOT
1. SWOT จำเป็นต้องทำในทุกหน่วยงาน เพราะเป็นการนำเสนอกลยุทธ์การทำงานที่ทุกหน่วยงานควรจะมีเป็นประจำ (เช่น ทุกปี) และเมื่อนำมารวมกัน ก็จะเกิดกลยุทธ์ในภาพรวมของกรมและกระทรวงได้
2. SWOT นำไปสู่ความสำเร็จ ความล้มเหลวของแผนงานโครงการที่จะเกิดขึ้น เพราะกลยุทธ์ที่ได้จาก SWOT จะนำไปใช้ปรับปรุงแนวคิดและแนวปฏิบัติของการจัดทำแผนงานหรือโครงการของหน่วยงาน ให้มีโอกาสแห่งความสำเร็จมากขึ้น
3. SWOT เป็นกระบวนการพลวัตร เพราะต้องมีการอัพเดทหรือปรับปรุง SWOT อยู่เสมอ เพราะปัจจัยโอกาส และอุปสรรคที่อยู่นอกเหนือการควบคุมจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมจุดแข็งและจุดอ่อน ของหน่วยงานด้วย
4. SWOT เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่หน่วยงาน ทำให้ทราบถึงกลยุทธ์ในการปรับปรุงการทำงาน ความก้าวหน้า และขีดจำกัดด้านคนงาน งบประมาณ และระบบงาน เป็นการป้องกันการแทรกแซงการทำงานจากปัจจัยภายนอกได้มากขึ้น
5. SWOT เป็นการทำประชาพิจารณ์หน่วยงานอย่างเป็นวิชาการ ซึ่งขั้นตอนและกระบวนการของ SWOT เป็นการตรวจสอบสาธารณะของผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในองค์กร และควรเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกองค์กร เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือนักวิชาการ หรือเกษตรกร เข้ามามีส่วนระดมความคิดเห็นด้วย
6. SWOT หน่วยงานนำไปสู่ SWOT บุคคล เมื่อเข้าใจสถานภาพของหน่วยงานแล้ว อย่าลืมทำ SWOT ให้ตัวเราเองบ้าง เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น ถึงความสำเร็จของงานและความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน

ประโยชน์ของการวิเคราะห์ SWOT
วิเคราะห์SWOT เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งปัจจัยแต่ละด้านของSWOT จะมีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงานขององค์กร เช่น
จุดแข็งขององค์กร จะเป็นความสามารถภายในที่ถูกใช้ประโยชน์ เพื่อการบรรลุเป้าหมาย
จุดอ่อนขององค์กร จะเป็นคุณลักษณะภายในที่อาจจะทำลายผลการดำเนินงาน
โอกาสทางสภาพแวดล้อม จะเป็นสถานการณ์ที่ให้โอกาส เพื่อการบรรลุเป้าหมายองค์กร
อุปสรรคทางสภาพแวดล้อม จะเป็นสถานการณ์ที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

ทั้งนี้ ความสำคัญ กระบวนการ และผลจากการวิเคราะห์ SWOT นี้จะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์การกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนาไปในทางที่เหมาะสมสามารถบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือทำให้มีข้อได้เปรียบในเชิงธุรกิจสามารถเป็นผู้นำนั้นเอง

การวิเคราะห์ SWOT ในระบบการศึกษา
        การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เป็นการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถานศึกษาทั้งในแง่เชิงบวกและเชิงลบ โดยวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อมเป็นข้อมูลในการประเมินสภาพของสถานศึกษาว่าเป็นอย่างไร และพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีบทบาทต่อการดำเนินงานของสถานศึกษาแบ่งได้ 2 ประเภท คือ สภาพแวดล้อมภายนอกและสภาพแวดล้อมภายใน โดยข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกจะพิจารณาจาก โอกาสและอุปสรรค ของสถานศึกษา และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในจะพิจารณาจาก จุดแข็งและจุดอ่อนของสถานศึกษา
จุดแข็ง (Strengths) หมายถึง ปัจจัยหลักของสภาพแวดล้อมภายในที่เป็นข้อดีหรือข้อเด่นที่ทำให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จ
จุดอ่อน (Weaknesses) หมายถึง ปัจจัยหลักของสภาพแวดล้อมภายในที่เป็นข้อด้อยซึ่งส่งผลเสียต่อการดำเนินงานของสถานศึกษา
โอกาส (Opportunities) หมายถึง ปัจจัยหลักของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยหรือสนับสนุนให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จ
อุปสรรค (Threats) หมายถึง ปัจจัยหลักของสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นภัยคุกคาม หรือข้อจำกัดที่ทำให้การดำเนินงานของสถานศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ


การวางแผนกลยุทธ์หรือการวางแผนเชิงกลยุทธ์นี้ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการสร้างความเป็นผู้นำ (Leadership) หรือในการสร้างภาพลักษณ์ที่แสดงถึงจุดเด่นของหน่วยงาน ในการวางแผนกลยุทธ์นั้นจะมีการกำหนดเป้าหมายรวมขององค์การสำหรับการดำเนินในอนาคตที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ มีการคิดในเชิงรุก มุ่งเอาดี เอาเด่น เอาก้าวหน้า ก้าวไกล มุ่งเอาชนะ เอาความยิ่งใหญ่ เน้นคุณภาพ และเอาความเป็นเลิศ เพราะการวางแผนเชิงกลยุทธ์นั้น เป็นการวางแผนที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่แน่ชัด มีการวิเคราะห์อนาคตและคิดเชิงการแข่งขันที่ต้องการให้ระบบการทำงานมีความสามารถในการปรับตัวสูง สำหรับการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องการระบบการทำงานที่คล่องตัว ต้องการดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำสู่เป้าหมายในอนาคต สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อความอยู่รอด (Survive) และความก้าวหน้า (Growth)
        ส่วนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรทางการศึกษา เป็นการศึกษาแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น โดยแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาขององค์กรทางการศึกษาต้องมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาตามเงื่อนไขข้อจำกัด และองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ได้แก่ นโยบายในการจัดการศึกษาของหน่วยงานต้นสังกัด รูปแบบการบริหารงานขององค์กรทางการศึกษา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นการศึกษาความต้องการของชุมชน เป็นการสำรวจความต้องการของชุมชนและผู้ปกครอง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนการวิเคราะห์สภาพขององค์กรทางการศึกษาในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาการศึกษา โดยจำเป็นต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ด้วยหลักการของ SWOT

ทิศทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา 
ทิศทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เป็นการมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นเจตนารมณ์หรือความตั้งใจที่กว้างๆ ครอบคลุมทุกภารกิจของ
สถานศึกษามุ่งการคิดไปข้างหน้า ซึ่งเป็นการแสดงถึงความคาดหวังในอนาคต โดยข้อความของวิสัยทัศน์จะสื่อถึงอุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ และอนาคตที่พึงประสงค์ของสถานศึกษาและชุมชน ทั้งนี้ข้อความวิสัยทัศน์จะต้องมีความชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา การเขียนวิสัยทัศน์ที่ดีให้คำนึงว่าจะสามารถสร้างความศรัทธาและจุดประกายความคิดให้แก่ผู้ปฏิบัติได้
ภารกิจหรือพันธกิจ (Mission) เป็นข้อความที่แสดงเจตนารมณ์และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้
บรรลุถึงวิสัยทัศน์
เป้าหมายของสถานศึกษา (School Goals) เป็นข้อความที่ระบุผลลัพธ์ปลายทางที่
สถานศึกษาจะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ ในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งการกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ภารกิจที่กำหนดมีความเป็นไปได้และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น สถานศึกษาจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของสถานศึกษา เช่น ในด้านผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ด้านหลักสูตร และการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ การจัดองค์กร การพัฒนาวิชาชีพ และการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้เป้าหมายที่กำหนดในระดับนี้ เป็นผลลัพธ์ปลายทางที่สถานศึกษาคาดหวังจะบรรลุภายในช่วงเวลาที่กำหนด ลักษณะการเขียนยังเป็นผลลัพธ์กว้างๆ  
แผนปฏิบัติการ เป็นแผนที่กำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการในแต่ละปี เพื่อให้บรรลุตาม
เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระยะที่กำหนด แผนปฏิบัติการประกอบแบบสังเขป รายละเอียดของกิจกรรม หรือขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมหรือขั้นตอนการปฏิบัติ กรอบเวลา งบประมาณ และแหล่งงบประมาณ

แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
         
แผนพัฒนาคุณภาพศึกษา เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทที่จะกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในช่วงระยะเวลาที่กำหนด โดยจัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะดำเนินงานตามข้อตกลงที่กำหนดร่วมกันนั้น

วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
1.     เพื่อวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและ
บรรลุตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
2.     เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วม สนับสนุน และส่งเสริม การดำเนินงานจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไป
ตามแผนที่กำหนดไว้
3.     เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ตรงต่อความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง
และชุมชน
4.     เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้แนวทางในการเรียนรู้และสามารถกำหนดบทบาทของตนเองได้ถูกต้อง

ประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
1.     ชุมชนและผู้ปกครองมั่นใจว่าสถานศึกษามีแผนและดำเนินการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และให้
ความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มใจ
2.     สถานศึกษามีการดำเนินงานตามแผนอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด
3.     สถานศึกษาจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนได้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
4.     ผู้เรียนแสดงบทบาทในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจนมีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมตามที่
หลักสูตรและสังคมต้องการ

        นอกจากนี้ แผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ไม่ได้กำหนดตายตัวว่ารอบระยะเวลาของแผนจะครอบคลุมกี่ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถานศึกษาหรือนโยบายของต้นสังกัดที่จะกำหนดกรอบระยะเวลาได้ตามความเหมาะสมและวิถีการปฏิบัติของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งอาจจัดทำเป็นแผน 1 ปี หรือ 2-3 ปีก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น